หากกล่าวถึงคำว่า “วิชาชีพ” หรือภาษาเมืองผู้ดีใช้คำว่า “Professional” เรามักจะนึกถึงความหมาย ในเชิงความรู้เฉพาะอาชีพอย่างใดอย่างหนึ่งที่ต้องศึกษาเรียนรู้กันเป็นพิเศษ หรืออาจจะนึกถึงความหมายอย่างอื่นได้อีก ตามความลึกซึ้งและเสน่ห์ของภาษาไทยที่เป็นหนึ่งในภาษาที่เรียนยากที่สุดในโลก ส่วนในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ให้ความหมายของ “วิชาชีพ” ไว้ว่า “วิชาที่จะนำไปใช้ในการประกอบอาชีพ” ซึ่งให้ความหมายได้ตรงตัวเป็นอย่างยิ่ง ส่วนความหมายจากแหล่งข้อมูลแห่งหนึ่งที่ผู้เขียนได้อ่านแล้วมีความเห็นว่าเป็นความหมายที่ครอบคลุมดีมาก คือ “อาชีพที่ประกอบด้วยองค์ความรู้ ทักษะ ความสามารถ คุณธรรม จริยธรรมที่เป็นระบบในระดับที่สูง…(ยาวมากเลยขออนุญาตย่อครับ)…มีสมาคมหรือองค์กรวิชาชีพกำหนดจรรยาบรรณวิชาชีพ เพื่อเป็นแนวทางให้ผู้ประกอบวิชาชีพนั้นๆ ได้ยึดถือประพฤติปฏิบัติมีการออกกฎหมายรับรองสถานภาพของวิชาชีพเป็นที่ยอมรับของสังคม”
เมื่อทราบถึงความหมายของ “วิชาชีพ” แล้ว สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งที่ผู้ประกอบวิชาชีพต้องทราบ คือ กฎหมาย ดังจะเห็นได้จากมีคำว่า “กฎหมาย” อยู่ในความหมายของคำว่า “วิชาชีพ”
ในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ระบุความหมายของคำว่า “กฎหมาย (Law)” ว่าเป็นกฎที่สถาบันหรือผู้มีอํานาจสูงสุดในรัฐตราขึ้น หรือที่เกิดขึ้นจากจารีตประเพณีอันเป็นที่ยอมรับนับถือ เพื่อใช้ในการบริหารประเทศ เพื่อใช้บังคับบุคคลให้ปฏิบัติตาม หรือเพื่อกําหนดระเบียบแห่งความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลหรือระหว่างบุคคลกับรัฐ หรือความหมายที่เข้าใจได้ง่ายเกี่ยวกับ กฎหมายคือข้อบังคับที่ต้องปฏิบัติตามและมีบทลงโทษหากไม่ปฏิบัติ ดังนั้น กฎหมายจึงมีความสำคัญในวิชาชีพและเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบวิชาชีพต้องยึดถือและปฏิบัติตาม1
กฎหมายด้านวิชาชีพมีการระบุขอบเขต ข้อบังคับและกฎเกณฑ์ต่างๆ…
