Skip to content Skip to footer

กฎหมายและมาตรฐานกับงานบริการด้าน “วิชาชีพ”

หากกล่าวถึงคำว่า “วิชาชีพ” หรือภาษาเมืองผู้ดีใช้คำว่า “Professional” เรามักจะนึกถึงความหมาย ในเชิงความรู้เฉพาะอาชีพอย่างใดอย่างหนึ่งที่ต้องศึกษาเรียนรู้กันเป็นพิเศษ หรืออาจจะนึกถึงความหมายอย่างอื่นได้อีก ตามความลึกซึ้งและเสน่ห์ของภาษาไทยที่เป็นหนึ่งในภาษาที่เรียนยากที่สุดในโลก ส่วนในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ให้ความหมายของ “วิชาชีพ” ไว้ว่า “วิชาที่จะนำไปใช้ในการประกอบอาชีพ” ซึ่งให้ความหมายได้ตรงตัวเป็นอย่างยิ่ง ส่วนความหมายจากแหล่งข้อมูลแห่งหนึ่งที่ผู้เขียนได้อ่านแล้วมีความเห็นว่าเป็นความหมายที่ครอบคลุมดีมาก คือ “อาชีพที่ประกอบด้วยองค์ความรู้ ทักษะ ความสามารถ คุณธรรม จริยธรรมที่เป็นระบบในระดับที่สูง…(ยาวมากเลยขออนุญาตย่อครับ)…มีสมาคมหรือองค์กรวิชาชีพกำหนดจรรยาบรรณวิชาชีพ เพื่อเป็นแนวทางให้ผู้ประกอบวิชาชีพนั้นๆ ได้ยึดถือประพฤติปฏิบัติมีการออกกฎหมายรับรองสถานภาพของวิชาชีพเป็นที่ยอมรับของสังคม”

เมื่อทราบถึงความหมายของ “วิชาชีพ” แล้ว สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งที่ผู้ประกอบวิชาชีพต้องทราบ คือ กฎหมาย ดังจะเห็นได้จากมีคำว่า “กฎหมาย” อยู่ในความหมายของคำว่า “วิชาชีพ”

ในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ระบุความหมายของคำว่า “กฎหมาย (Law)” ว่าเป็นกฎที่สถาบันหรือผู้มีอํานาจสูงสุดในรัฐตราขึ้น หรือที่เกิดขึ้นจากจารีตประเพณีอันเป็นที่ยอมรับนับถือ เพื่อใช้ในการบริหารประเทศ เพื่อใช้บังคับบุคคลให้ปฏิบัติตาม หรือเพื่อกําหนดระเบียบแห่งความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลหรือระหว่างบุคคลกับรัฐ หรือความหมายที่เข้าใจได้ง่ายเกี่ยวกับ กฎหมายคือข้อบังคับที่ต้องปฏิบัติตามและมีบทลงโทษหากไม่ปฏิบัติ ดังนั้น กฎหมายจึงมีความสำคัญในวิชาชีพและเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบวิชาชีพต้องยึดถือและปฏิบัติตาม1

กฎหมายด้านวิชาชีพมีการระบุขอบเขต ข้อบังคับและกฎเกณฑ์ต่างๆ ในภาพรวมเอาไว้เพื่อให้ปฏิบัติตามและมักจะอ้างอิงถึง “มาตรฐาน(Standard)” ในกรณีที่กฎหมายต้องการให้ผู้ที่ถูกบังคับปฏิบัติตาม “มาตรฐาน” ในเรื่องต่างๆ ด้วยเหตุผลด้านคุณภาพหรือความปลอดภัย แต่เนื่องจากมาตรฐานมีรายละเอียดค่อนข้างมากและไม่สามารถระบุในกฎหมายได้ทั้งหมด จึงต้องใช้วิธีการอ้างอิง ดังกล่าว

คำว่า “มาตรฐาน” ในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ระบุว่าเป็นสิ่งที่ถือเอาเป็นเกณฑ์ที่รับรองกันทั่วไป (ท่านผู้อ่านจะสังเกตว่าผู้เขียนได้อ้างอิง ความหมายของคำต่างๆ จาก “พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน” เพราะเป็นมาตรฐานในการเขียนหนังสือไทย) หากเป็นมาตรฐานที่เกิดจากการพิจารณาร่วมกันของประเทศต่างๆ เพื่อหาข้อตกลงร่วมกัน เรียกว่า “มาตรฐานระดับสากล”

กล่าวโดยสรุป คือผู้ประกอบวิชาชีพต้องทำตามกฎหมาย รวมไปถึงต้องทำตามมาตรฐานที่กฎหมายระบุเอาไว้ ซึ่งรายละเอียดบางอย่างในกฎหมายอาจจะมีความเข้มงวดมากกว่าในมาตรฐาน และสิ่งสำคัญที่กฎหมายมีการระบุถึงคือบทลงโทษหากไม่ทำตาม ซึ่งแน่นอนว่าบทลงโทษต่างๆ มีไว้เพื่อป้องกันความเสี่ยงต่อชีวิตและทรัพย์สินที่จะเกิดขึ้นหากไม่ทำตามกฎหมายนั่นเอง

บริษัท ไอเอสอีที (ประเทศไทย) จำกัด ประกอบธุรกิจด้านการตรวจวิเคราะห์และประเมินผลกระทบทางสุขภาพ,สิ่งแวดล้อม รวมทั้งบริการอื่นๆ ในงานด้าน “วิชาชีพ” สิ่งที่เรายึดถือในการดำเนินงานมาโดยตลอดคือการทำงานตามมาตรฐานสากลและกฎหมาย ซึ่งลูกค้าสามารถให้ความไว้วางใจในงานต่างๆ ของเรา ในเรื่องความปลอดภัย การมีคุณภาพที่ดี มีความเชื่อถือได้ ยุติธรรมและถูกกฎหมาย

บทความนี้เป็นบทความที่ทำให้ท่านผู้อ่านได้เข้าใจถึงความเกี่ยวข้องกันของ กฎหมายและมาตรฐานกับงานบริการด้าน “วิชาชีพ” และทราบถึงความเข้าใจที่ บริษัท ไอเอสอีทีฯ มีต่อกฎหมายและมาตรฐาน ซึ่งแน่นอนว่ามาตรฐานสากลและกฎหมายของประเทศไทยเป็นสิ่งที่เรายึดมั่นในการดำเนินธุรกิจ โดยเราจะยึดมั่นและรักษาแนวทางนี้ไว้อย่างต่อเนื่อง

ส่วนบทความต่อๆ ไป บริษัท ไอเอสอีทีฯ จะแชร์ความรู้ต่างๆ ที่รวบรวมจากประสบการณ์และความเชี่ยวชาญของเรา

สุดท้ายนี้ขอขอบพระคุณท่านผู้อ่านทุกท่าน และพบกันในบทความครั้งหน้าครับ ซึ่งหากท่านผู้อ่านมีคำถามหรือคำติชมต่างๆ เรามีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง โดยท่านสามารถสอบถามข้อมูลมาได้ที่ (E-Mail, Tel.)